เปิดสูตรขึ้นภาษีทรัมป์กนอ.ห่วง 80 สินค้าอ่วม เอกชนชง 4 ประเด็นวอนรัฐช่วย
การขึ้นภาษีของรัฐบาลประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ใช้สูตรอะไร และกระทบการส่งออกของไทยมากน้อยแค่ไหน และไทยจะลดผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างไร “ยุทธศักดิ์ สุภสร” ประธานกรรมการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) มีคำตอบ
เปิดสูตรขึ้นภาษีทรัมป์ ของสหรัฐอเมริกา
นายยุทธศักดิ์ สุภสร ประธานกรรมการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากกรณีที่ประธานาธิบดีทรัมป์ได้ประกาศแนวทางเกี่ยวกับภาษีศุลกากรแบบสองขั้นตอน โดยมีรายละเอียดดังนี้
อัตราภาษีที่แต่ละประเทศเก็บจากสหรัฐฯ (WH Est. Tariff Rate Against U.S.) และอัตราภาษีตอบโต้ที่สหรัฐฯ จะเก็บจากประเทศนั้นๆ (U.S. Reciprocal Tariff Rate) โดยอัตราภาษีตอบโต้จะคำนวณจากครึ่งหนึ่งของอัตราภาษีที่ประเทศนั้นเก็บจากสหรัฐฯ และบวกเพิ่มจากภาษีพื้นฐาน 10% ตัวอย่าง เช่น ไทย เก็บภาษีจากสหรัฐฯ 72%
ดังนั้นสหรัฐฯ จะเก็บภาษีตอบโต้จากไทยที่ 36% (72% ÷ 2) + 10% = 36% สหราชอาณาจักร (UK) เก็บภาษีจากสหรัฐฯ 10% ดังนั้นสหรัฐฯ จะเก็บภาษีตอบโต้ที่ 10% (10% ÷ 2) + 10% = 10% (เท่ากับภาษีพื้นฐาน)
ตัวอย่างประเทศที่มีอัตราภาษีสูงสุด กัมพูชา และ ศรีลังกา เก็บภาษีจากสหรัฐฯ 88% ดังนั้นสหรัฐฯ จะเก็บภาษีตอบโต้ที่ 44% (88% ÷ 2) + 10% = 44% ตัวอย่างประเทศที่มีอัตราภาษีต่ำสุด สหราชอาณาจักร, บราซิล, สิงคโปร์, ชิลี, ออสเตรเลีย, ตุรกี, โคลอมเบีย เก็บภาษีจากสหรัฐฯ 10% ดังนั้นสหรัฐฯ จะเก็บภาษีตอบโต้ที่ 10% (เท่ากับภาษีพื้นฐาน)
กนอ.เผย 80 สินค้าส่งออกอ่วม ทรัมป์ขึ้นภาษี
จากผลกระทบดังกล่าวดังกล่าวล่าสุด กนอ.ได้สำรวจความเห็นของผู้ประกอบการ ต่อกรณีไทยจะถูกเก็บภาษีตอบโต้จากสหรัฐฯ ที่ 36% ซึ่งผู้ประกอบการทุกรายยืนยันถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยประเภทสินค้าที่ส่งออกกว่า 80 ประเภท จะได้รับผลกระทบที่เข้าข่ายถูกขึ้นภาษี เช่น สินค้าอะไหล่เครื่องจักร ชิ้นส่วนยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องประดับ อุปกรณ์กีฬา เคมีภัณฑ์ ผ้าเบรก แม่พิมพ์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เหล็ก / อลูมิเนียม และอื่นๆ
รวมถึงหลายบริษัทได้รับผลกระทบทางอ้อม เช่น ต้นทุนขนส่งเพิ่มขึ้น การย้ายฐานการผลิต หรือ การสูญเสียลูกค้าสหรัฐอเมริกา อีกทั้งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก อาจนำไปสู่ความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศคู่ค้า และอาจส่งผลให้ราคาสินค้าสูงขึ้นทั้งในสหรัฐฯ และในประเทศที่ถูกเก็บภาษี
สำหรับในแง่ของมูลค่าความเสียหายของผู้ประกอบกิจการ จากการสำรวจ มีตั้งแต่ระดับหลักล้านถึงพันล้านบาท เช่น ผลกระทบสูงสุดกว่า 1.7 พันล้านบาท ,รายได้ลดลงกว่า 600 ล้านบาทต่อปี, ขาดทุนโดยตรง 3,000 ล้านบาท และขาดทุนทางอ้อม 2,000 ล้านบาท และผู้ประกอบกิจการหลายราย ระบุว่า อาจย้ายฐานผลิตออกจากไทย หรือ ต้องปิดกิจการหากไม่มีมาตรการช่วยเหลือ
“กนอ. ได้ประเมินผลกระทบจากมาตรการภาษีดังกล่าว ให้ทราบว่ามีผู้ประกอบในนิคมฯ ที่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นภาษีไทยข้างต้น เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือ หรือส่งข้อมูลให้กับรัฐบาล เพื่อหาทางออกที่ดีที่สุดสำหรับผู้ประกอบการในนิคมฯ
เอกชนชง 4 ข้อเสนอ วอนรัฐช่วย
โดยสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือ มี 4 เรื่องหลัก ได้แก่ 1.ส่งเสริมตลาดทางเลือกใหม่ / จับคู่ธุรกิจ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องการมากที่สุด ตามมาด้วย 2. ให้ข้อมูลภาษี/ กฏหมายระหว่างประเทศ 3. สนับสนุนเงินทุน หรือ สิทธิประโยชน์ด้านภาษีในประเทศ และ 4. ช่วยเจรจากับกระทรวงการต่างประเทศ หรือ พาณิชย์” นายยุทธศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย